นั่งนานบนรถ อันตรายกว่าที่คิด!
top of page

นั่งนานบนรถ อันตรายกว่าที่คิด!

อัปเดตเมื่อ 20 เม.ย. 2566




หากการนั่งในออฟฟิศเป็นเวลานานเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม การนั่งในรถเป็นระยะเวลานาน ก็ทำให้เกิดโรคภัยที่อันตรายส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน โรคที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการนั่งบนรถเป็นระยะเวลานาน ได้แก่


1. กล้ามเนื้ออักเสบ


การนั่งบนรถที่มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบทได้ อาการปวดเมื่อยมักถามหาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอาการปวดเมื่อยนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่นำไปสู่อาการปวดคอ/บ่า หรือหลัง หากไม่มีวิธีจัดการกับอาการปวดเมื่อยนี้อย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อปวดตึง กล้ามเนื้ออักเสบ หรือแม้กระทั่งโรคปวดคอ/บ่า หรือหลังในที่สุด ความอ่อนล้า ปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นนี้มักจะค่อย ๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน และส่งผลต่อกลุ่มกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น คอ หัวไหล่ หลัง ขา และสะโพก ดังนั้นหากต้องขับรถหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน อย่าลืมหาเวลาพักหรือจอดรถลงไปยืดเส้นยืดสาย เพื่อเพิ่มเลือดไหลเวียน พักการใช้งานกล้ามเนื้อ ถ้าจะให้ดีเพิ่มการยืดเหยียดกล้ามเนื้อในระหว่างรถติด ก็สามารถลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้


2. หมอนรองกระดูกเสื่อม/หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


การนั่งขับรถเป็นเวลานานและต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม และยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นโรคที่มีความรุนแรงยิ่งกว่า นั่นคือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่นั่งในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหลังโดนยืดยาวออก ร่วมกับเกิดแรงกดทับต่อของหมอนรองกระดูกอย่างต่อเนื่อง ในภาวะนี้จะทำให้หมอนรองกระดูกมีความเปราะบาง มีโอกาสบาดเจ็บและฉีกขาดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแรงกระทำอื่นเข้ามาเสริม เช่น แรงกระแทกเมื่อขับรถไปในที่ขรุขระ แรงกระชากเมื่อรถต้องเบรกกระทันหัน แรงต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกโดยตรง นอกจากนี้ การนั่งอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งตัวไหลหรือตัวโค้งงอ ยิ่งทำให้เกิดแรงกดทับบนหมอนรองกระดูกอย่างทวีคูณ


3. โรคหลอดเลือดดำอุดตัน


ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน พบบ่อยในผู้ที่ต้องนั่งบนเครื่องบินนานๆ แต่ในปัจจุบันการนั่งบนรถโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่รถติดหนัก ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตันเช่นกัน โดยจะมีอาการปวดบวมแดงบริเวณน่องหรือข้อเท้าเป็นอาการสำคัญอาการเบื้องต้น ซึ่งเกิดจากการที่เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรือชิ้นเล็กๆ แล้วไหลเข้าไปตามกระแสเลือด ความน่ากลัวอยู่ที่ ลิ่มเลือดดังกล่าวอาจไหลไปตามกระแสเลือด ไปอุดตันตามอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด หรือหัวใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดตามร่างกายส่วนล่าง ตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงไป โดยเฉพาะการนั่งในที่คับแคบเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมงโดยไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งไขว้ขา การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือการมีหลอดเลือดขอดหรือโป่งพอง


4. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบคือ การกลั้นปัสสาวะนาน ๆ โดยทั่วไปจะพบในช่วงอายุ 20–50 ปี ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย ความกังวลถึงเรื่องความสะอาดของห้องน้ำสาธารณะ สถานการณ์ฝนตก รถติด น้ำท่วม ปั๊มน้ำมันที่รถจอดกันเต็มจนล้นออกมาริมถนน อาจทำให้หลายคนเลือกที่จะอั้นปัสสาวะไว้รอไปเข้าห้องน้ำที่ปลายทางทีเดียว อย่ามัวแต่อยากไปถึงปลายทางเร็ว ๆ จนทำให้สุขภาพเสีย หากปวดปัสสาวะควรแวะเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ถือเป็นการได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ คลายเครียด และเติมเสบียงไปด้วย

ป้องกันโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกันการนั่งบนรถ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยนั่งให้ถูกท่าไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและทนทานในกล้ามเนื้อ หากต้องเดินทางไกลควรมีการแวะพักเป็นระยะ เพื่อลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบท รวมไปถึงสวมเสื้อผ้าที่ไม่อึดอัดรัดแน่นจนเกินไป และที่สำคัญดื่มน้ำอย่างพอเพียง เพื่อลดความข้นของเลือดที่จะเกิดเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย แต่หากมีอาการปวดอย่างเรื้อรังควรที่จะปรึกษาแพทย์ทันที

bottom of page